ระบบน้ำ UP DOWN FLOW ที่ว่าโบราณจะถูกแปลงร่างเป็นอะไร?? กับงบที่จำกัดจากนายแม่ของผม
ย้อนกลับไปช่วง พ.ศ. 2555 บ้านผมมีพื้นที่ 2 x 3 เมตรว่างอยู่ ผมตั้งใจจะเนรมิตให้เป็นบ่อปลาคราฟครับ จากประสบการณ์ที่เคยเลี้ยงแต่ปลาทองในตู้เท่านั้น ว่างเมื่อไหร่ google ทันที …ผมเจอระบบตำนาน (โบราณ) เต็ม google ไปหมด นั่นคือระบบ up down flow ตอนนั้นอ่านหนักมากยิ่งกว่าทำ โปรเจคจบ 5555 แรงบันดาลใจมาเต็มไปหมด ทำในสิ่งที่ชอบทำยังไงก็ไม่เหนื่อย
ซึ่งหลังจากหาข้อมูลอย่างหนักนั้น ได้ทำการ
-ล่างแบบเบื้องต้น
– ค้นหาข้อมูลวัสดุกรอง
สรุปแบบบ่อแรกได้ระบบ up down flow วัสดุกรองหินภูเขาไฟใหญ่ ไปจนถึงหินภูเขาไฟเล็ก โดยยึดหลักกรองหยาบไปกรองละเอียด ช่องสุดท้ายเป็นปั๊มน้ำ ( ท่านผู้อ่านคงคิดว่า ก็เหมือนระบบทั่วๆไป …แต่เดี๋ยวก่อน ไม่ใช่เพียงเท่านี้ มันจะถูกแปลงร่าง ยำรวมอีกหลายตลบเชียวครับ)
ผมใช้เวลาสิงอยู่ที่ www.koi360.com เว็บที่เกี่ยวข้องกับปลาคราฟล้วนๆ มีเว็บบอร์ดแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งจากทฤษฎีและจากประสบการณ์ของคนเลี้ยงเอง ผมเริ่มอ่านกระทู้ตั้งแต่หน้า 1 จนถึงหน้าปัจจุบัน สนุกดีครับ เหมือนอ่านประวัติศาสตร์เลย
ทำให้รู้ว่า แบบที่ผมเขียนด้วยการมโนและหาความรู้ก่อนหน้านั้น มันคือระบบที่ “ล้าหลัง โบราณมาก”
และแล้ว.. ผมคนเดียวคงไม่ไหว…ท่านใดเป็นสมาชิก Koi360 จะรู้ว่ามีแอดมินที่เข้ามาตอบบ่อยๆ เขียนยาวๆ หน่อย คือ พี่หนึ่ง 2p ผมเลยหาเบอร์พี่หนึ่งเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับแบบบ่อปลา พี่หนึ่งให้คำปรึกษาที่ดีมาก และยิงคำถามให้คิด ให้หา คำตอบ หาเหตุหาผลของแต่ละการตัดสินใจ ผมรู้สึกขอบคุณพี่หนึ่งทุกครั้งที่รับสาย เกรงใจทุกครั้งที่โทรเข้าไปบ่อยๆ ขอบคุณนะครับพี่
สิ่งที่พี่หนึ่งชี้ให้เห็นคือ
ผมลืมคิดความหนาของผนังปูนและระบบ up down flow พื้นที่ของความหนาปูนกินพื้นที่กรองไปเยอะมาก ซึ่งมันเป็นการสิ้นเปลืองเกินไป
พี่หนึ่งแนะนำให้ไปค้นหาพวกระบบของ Peter Weddington ว่ามีอะไรบ้างเป็นอย่างไร จนได้ไปเจอกระทู้ บ่อปลาคราฟของพี่กล้าที่โคราช ครับ (คนบ้านเดียวกันเลย)
อ่านไปงงไป วัสดุกรองหน้าตาแปลกๆ เป็นเม็ดพลาสติก (Moving Bed) ตัวกรองตัวนี้ถูกยกให้เป็นมีเดียที่มีพื้นที่ให้แบคทีเรียดีๆ มาเกาะได้เยอะสุด พร้อมแผ่นใยสีฟ้า เหมือนสก็อตไบร์ท (Filter Mat) แถมมีออกซิเจนด้วยที่บ่อกรอง
งงไปหมดตอนนั้น ใส่ทำไม เพื่ออะไร สวยงามรึเปล่า ?
ค้นหาต่อไปจึงรู้ว่า แบคทีเรียที่ย่อยของเสียในระบบนั้นต้องการออกซิเจนเพื่อดำรงชีพ ดังนั้นการใส่ออกซิเจนที่บ่อกรองจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ผมจึงปรับเปลี่ยนแก้ไขแบบบ่อ โดยมีบ่อของพี่กล้าเป็นต้นแบบ
บ่อพี่กล้าใหญ่มาก บ่อที่ผมออกแบบนั้นเหมือนใช้ไฟฉายย่อส่วนโดเรมอนเลยทีเดียว ช่องกรองบ่อผมมีทั้งหมด 5 บ่อกรอง โดยมีบ่อเกรอะ / บ่อกรองขี้ปลาหยาบ / บ่อ moving bed / บ่อ filter mat และสุดท้ายบ่อปั๊มน้ำ ซึ่งยังคงอิงตำราโบราณอยู่คือ กรองหยาบไปละเอียด แต่ที่เพิ่มมาคือบ่อเกรอะ และวัสดุกรองที่ไม่ใช่หิน
หลังจากที่เขียนแบบเรียบร้อยแล้ว เพื่อความมั่นใจครั้งสุดท้าย ผมโทรหาพี่กล้าเลยครับ พี่กล้าก็บอกให้มาที่บ้านเลย เขียนกันชัดๆ ง่ายกว่าคุยกันทางโทรศัพท์ ผมรู้สึกดีใจและรู้สึกได้เลยว่า พี่ๆในวงการนี้ใจดีมากๆเลยครับ
….. ณ บ้านพี่กล้า ….
โห บ้านใหญ่มาก !! เดินเข้าไปเจอบ่อนี่แบบเหมือนต้องมนต์สะกด สวยกว่าในรูปอีก แถมปลานี่ เกิดมาพึ่งจะเคยเห็นปลาคาร์ปตัวใหญ่โต สวยงามแบบนี้ !
ผมได้เข้าไปนั่งคุยเรื่องแบบบ่อ ปรับขนาด วางท่อต่างๆกี่นิ้ว พี่กล้าพามาดูระบบจริง บ่อจริง เป็นอะไรที่เพลินมากครับ อยู่เป็นชั่วโมงๆ เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก แบบบ่อปลาก็สมบูรณ์เต็ม ผมต้องขอบคุณพี่กล้ามากๆ เลยครับ
บันทึก : ผมเลือกที่จะใช้วัสดุกรองเป็น Moving Bed เพราะว่าเจ้ามีเดียตัวนี้ มีพื้นที่ให้จุลินทรีย์ และแบคทีเรียที่ดีได้เกาะและเจริญเติบโตได้มากที่สุด กำจัดของเสียและสารพิษในน้ำให้น้อยลงตามไปด้วย
จริงๆ แล้วผมอยากทำเป็นระบบ Full Moving bed (ใช้ตัวกรองเป็น Moving bed ทั้งหมด) แต่ด้วยงบประมาณที่วิ่งตามความคิดมาไม่ทัน 55555 จึงต้องใช้ Filter mat เป็นอีกตัวมีเดียที่มาช่วยเสริมครับ ราคาถูกกว่า ประหยัดงบไปได้มากโข
จากนั้น ส่งแบบบ่อให้ช่าง ส่วนผมก็เข้ามาเรียนที่ กทม.
บ่อปลาผมสร้างหน้าฝน ดินเปียกชุ่ม ขุดง่าย บ่อผมติดตัวบ้านครับ ขุดไปขุดมา ดินที่อยู่ใต้บ้านทรุดลงมาเป็นโพรงเลย เลยหยุดขุดไป
ต้องหาซื้อไม้มาค้ำแล้วถมดินเข้าไปคืน ก่อนจะสร้างเสร็จนั้นบอกเลยว่าเป็นช่วงวัดใจมาก โทรศัพท์เข้าทุกวัน พ่อโทรมาบ้าง ช่างโทรมาบ้าง ช่างโทรมาส่วนมากขอเปลี่ยนแบบ โทรมาบอกว่าทำแบบนี้ได้ไหม ทำง่ายกว่า !!! ใครคุมงานสร้างเองจะรู้ว่า สารพัดร้อยแปดหมื่นเหตุผลที่ช่างจะทำไม่ตรงใจเรา
….. ตอนหน้า ภาค 2 ผมจะมาเปิดบ่อ 5 ช่อง พร้อมอธิบายระบบการทำงาน แบบชัดๆ ละเอียดยิบ และเล่าเรื่องบ่อรั่ว ! ที่อาจจะต้องเจอ พร้อมวิธีเตรียมบ่อ จ่ายรักร้อย แต่รักษาปลาหลักแสนไว้นะครับ
——————————————————————–
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อ #พ่อบ้านรักปลา ทุกท่านนะครับ 🙂